โพสต์โดย : Reporternews
IP Address : 184.22.120.180
มิวเซียมสยามร่วมมือพันธมิตร จ.หนองคาย สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เปิดมิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile) ชุดเรียงความประเทศไทย
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย, นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) พร้อมด้วย นาง จิระนันท์ สกุลตั้งไพศาล ผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดหนองคาย เทศบาลเมืองหนองคาย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดหนองคาย วิทยาลัยอาชีวศึกษาหนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหนองคาย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต2 และวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงMOUความร่วมมือขับเคลื่อนงานส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้สำหรับประชาชน ผ่านโครงการ “มิวเซียมติดล้อ” หรือ Muse Mobile ณ ตลาดรถไฟ หนองคาย
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์แนวคิดใหม่ ดำเนินภารกิจมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงกับการให้บริการแหล่งเรียนรู้ภายใต้รูปแบบ Discovery Museum ซึ่งเป็นสถานที่ ที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้สนุกกับการเรียนรู้ ร่วมกันค้นหาตัวตน ค้นพบคนไทย ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต พร้อมต่อยอดแนวคิดนี้เป็นคาราวานMuse Mobile หรือ “มิวเซียมติดล้อ” ออนทัวร์ทั่วเมืองไทย สร้างพื้นที่ของการเรียนรู้แบบใหม่สู่เด็กและเยาวชนด้วยพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในบ้านเกิด พร้อมกระตุ้นท้องถิ่นร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โครงการมิวเซียมติดล้อ (Muse Mobile) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 47 จังหวัด ในภูมิภาคต่างๆ โดยสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน มากกว่า 222 หน่วยงาน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในทุกภูมิภาคที่เข้าชมชุดนิทรรศการมากกว่า 624,522 คน และขณะนี้ ได้เคลื่อนล้อมาจ่อคิวอยู่ที่จังหวัดหนองคายเรียบร้อยแล้ว
นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า “โครงการนี้ มีความสำคัญต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม สร้างโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ได้แสวงหาความรู้ รู้จักวิถีไทย รู้จักรากเหง้า ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงสังคมในยุคปัจจุบัน สร้างแรงบันดาลใจ จนสามารถนำอดีตมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต จนเกิดเป็นแหล่งสังคมแห่งการเรียนรู้ ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยผลักดันเศรษฐกิจของเมืองให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งจังหวัดหนองคาย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ คุ้มค่าแก่การลงทุนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงมีแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญในหลายพื้นที่ อาทิ แหล่งโบราณคดีโคกคอน มีการขุดพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์โบราณและเครื่องใช้ต่างๆ ว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์, มีแหล่งถลุงแร่ทองแดง ดีบุกสมัยโบราณ, เทศกาลบุญบั้งไฟพญานาค, สถาปัตยกรรมอาคารเก่าสวยงาม, ความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นต้น คาดว่าแหล่งเรียนรู้เคลื่อนที่แห่งใหม่นี้ จะสามารถดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกมากมาย” นายราชันย์ กล่าว
ด้าน นางจิรนันท์ สกุลตั้งไพศาล ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดหนองคาย เชิงอนุรักษ์ “ณ ตลาดรถไฟ หนองคาย กล่าวเสริมว่า " มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile ชุด “เรียงความประเทศไทย” เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ประเทศไทยและคนไทย ผ่านรูปแบบสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัย ตื่นเต้น น่าสนใจ เทียบเคียงกับพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของต่างประเทศ ความยาวกว่า 50 เมตร นี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟเก่าจังหวัดหนองคายเชิงอนุรักษ์ “ณ ตลาดรถไฟ หนองคาย” ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็น สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ และเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของจังหวัดหนองคาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบไม่เกินกลางปี พ.ศ. 2566 แต่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ Muse Mobile พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม นี้ เป็นต้นไป โดยเปิดให้บริการ ในวันและเวลาทำการ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น. เปิดวันอังคาร ถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์)” นางจิรนันท์ กล่าวทิ้งท้าย
“มิวเซียมติดล้อ Muse Mobile” จัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ ชื่อชุดนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” โดยเล่าถึงประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผ่านรูปแบบนิทรรศการที่ทันสมัยในตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดใหญ่ โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในรูปแบบของนิทรรศการและกิจกรรมที่มีความทันสมัย รองรับการเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน ต่อยอดองค์ความรู้สู่ทุกภูมิภาค และมุ่งตรงเข้าหาเด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป โดยตั้งเป้าหมายการสัญจรของ “Muse Mobile มิวเซียมติดล้อ”จะเป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ใหม่ให้เกิดในสังคมไทย อันจะนำมาซึ่งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
รางวัลที่ 1 | 2 ตัว | เลขท้าย 3 ตัว | เลขหน้า 3 ตัว |
---|---|---|---|
187221 | 38 | 980 547 | 036 923 |