นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ของ KAUST ได้รับรางวัล Japan Prize ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่คว้ารางวัลนี้มาได้
ธูวัล, ซาอุดีอาระเบีย, 16 เมษายน 2568 /PRNewswire/ -- มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลลอห์ (KAUST) มีความภาคภูมิใจที่จะประกาศว่า ศาสตราจารย์ Carlos M. Duarte ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Ibn Sina สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในระดับนานาชาติอย่าง Japan Prize จากผลงานบุกเบิกด้านนิเวศวิทยาทางทะเล และงานวิจัยที่เป็นผู้นำเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของระบบนิเวศบลูคาร์บอนในการเป็นแนวทางตามธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ โดยผลงานของศาสตราจารย์ Duarte ได้เข้ามาพลิกโฉมความเข้าใจของโลกเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร และศักยภาพของแนวทางเหล่านี้ในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
รางวัล Japan Prize ซึ่งมักได้รับการขนานนามว่าเป็น "รางวัลโนเบลของญี่ปุ่น" และได้รับการยกย่องว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มีขึ้นเพื่อยกย่องความสำเร็จอันโดดเด่นที่สร้างคุณูปการต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก
รางวัลที่ศาสตราจารย์ Duarte ได้รับนั้น เป็นการเชิดชูงานวิจัยที่ท่านศึกษามาหลายสิบปีเกี่ยวกับระบบนิเวศบลูคาร์บอน ซึ่งรวมถึงทุ่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และบึงน้ำเค็ม แม้ระบบนิเวศเหล่านี้จะมีพื้นที่เพียง 0.2% ของพื้นมหาสมุทร แต่กลับสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึงประมาณ 50% ของคาร์บอนทั้งหมดที่ถูกฝังอยู่ในตะกอนพื้นทะเลในแต่ละปี ผลการค้นพบของท่านมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางกลยุทธ์ระดับนานาชาติ เพื่อนำระบบนิเวศเหล่านี้มาใช้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
ศาสตราจารย์ Duarte จะเข้ารับรางวัลนี้ในพิธีอันเป็นทางการ ณ กรุงโตเกียว ในวันที่ 16 เมษายนนี้ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงเป็นประธาน
"การได้รับรางวัล Japan Prize ในครั้งนี้นับเป็นเกียรติอย่างมากครับ" ศาสตราจารย์ Carlos Duarte กล่าว "รางวัลนี้เป็นการยอมรับถึงศักยภาพอันมหาศาลของมหาสมุทรในการฟื้นฟูสุขภาพของโลกใบนี้ ผมหวังว่าการให้ความสำคัญกับบลูคาร์บอนนี้ จะจุดประกายความมุ่งมั่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้นำรุ่นเยาว์ ให้หันมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อิงธรรมชาติ และร่วมมือกันเพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ"
"การที่ศาสตราจารย์ Duarte ได้รับการยกย่องนั้น เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของ KAUST ในการทำวิจัยที่ทันสมัย และบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของซาอุดีอาระเบียในด้านความยั่งยืนและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในระดับโลก" ศาสตราจารย์ Sir Edward Byrne อธิการบดี KAUST กล่าว "ผลงานของท่านสะท้อนให้เห็นบทบาทของ KAUST ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย และโครงการ Saudi Green Initiative เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์ทางทะเล นวัตกรรมด้านสภาพภูมิอากาศ และความเป็นผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ"
นอกเหนือจากงานวิจัยของท่านแล้ว ศาสตราจารย์ Duarte ยังมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เกี่ยวกับความพยายามระดับชาติในการอนุรักษ์ทะเล รวมถึงยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของประเทศ และการดูแลรักษามหาสมุทร นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทหลักในการวางนโยบายทางทะเลระดับโลก โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารโครงการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาปะการัง (CORDAP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม G20 และมีเป้าหมายที่จะผลักดันนวัตกรรมในการฟื้นฟูแนวปะการังทั่วโลก ความเชี่ยวชาญของท่านยังคงมีอิทธิพลต่อการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศ และกรอบการทำงานด้านการอนุรักษ์ทางทะเลทั่วโลกด้วย
ศาสตราจารย์ Duarte เป็นท่านที่สองจาก KAUST ที่ได้รับรางวัลนี้ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2556 นั้น Jean M. J. Fréchet อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ก็ได้รับรางวัลจากผลงานอันโดดเด่นในการพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์แบบ Chemically Amplified Resist (CAR) ซึ่งใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่
เกี่ยวกับ KAUST
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลลอห์ (KAUST) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 โดยเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ที่ทุ่มเทให้กับการหาทางออกสำหรับความท้าทายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของโลก รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ในด้านอาหารและสุขภาพ น้ำ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และโลกดิจิทัล KAUST ขับเคลื่อนด้วยความใคร่รู้ และทำงานวิจัยแบบบูรณาการสหวิทยาการ
KAUST รวบรวมสุดยอดนักคิดจากทั่วโลกเพื่อส่งเสริมงานวิจัยให้ก้าวหน้า ที่นี่มีผู้คนกว่า 120 เชื้อชาติที่อาศัย ทำงาน และศึกษาอยู่ในวิทยาเขตเดียวกัน KAUST ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของสังคม โดยมีผลงานวิจัยที่นำไปสู่การจดสิทธิบัตรและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปที่มีศักยภาพ โครงการริเริ่มทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ๆ ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานของซาอุดีอาระเบีย
เกี่ยวกับ CORDAP
โครงการเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาปะการัง (CORDAP) เป็นโครงการริเริ่มของกลุ่ม G20 ที่มุ่งเร่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อปกป้องแนวปะการังทั่วโลก CORDAP ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดับโลก โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และภาคเอกชน ในการพัฒนาและนำแนวทางแก้ไขที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไปใช้อนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
KAUST เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายหลัก และเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ CORDAP ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์แนวปะการัง โดยการสนับสนุนด้านการเงินจาก KAUST นั้นช่วยให้ CORDAP สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยที่สำคัญและพัฒนาแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ เพื่อปกป้องระบบนิเวศอันสำคัญยิ่งเหล่านี้
แสดงความคิดเห็น