โรงกษาปณ์แคนาดาคว้า 2 รางวัล Excellence in Currency ประจำปี 2567 จากสมาคมเงินตรา...

ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์

พีอาร์ นิวส์ ไทยแลนด์ x ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์

ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - โรงกษาปณ์แคนาดาคว้า 2 รางวัล Excellence in Currency ประจำปี 2567 จากสมาคมเงินตราสากล

ชอบข่าวนี้?

โรงกษาปณ์แคนาดาได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม จากการสร้างสรรค์เหรียญหมุนเวียนแบบสีสองด้านชิ้นแรกของโลกให้กับธนาคารกลางบาฮามาส และกระบวนการชุบบรอนซ์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ออตตาวา, ออนแทรีโอ, 31 ต.ค. 2567 /PRNewswire/ -- โรงกษาปณ์แคนาดา (Royal Canadian Mint) มีความยินดีที่ได้รับรางวัล Excellence in Currency อันทรงเกียรติถึง 2 รางวัลจากงานประชุมเหรียญ (Coin Conference) ประจำปี 2567 ของสมาคมเงินตราสากล (IACA) ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยโรงกษาปณ์ฯ ได้รับรางวัลใน 2 สาขาด้วยกัน ได้แก่ รางวัลเหรียญที่ระลึกหรือเหรียญหมุนเวียนทดสอบยอดเยี่ยม (Best New Commemorative or Test Circulating Coin) สำหรับเหรียญหมุนเวียนสีสองด้านชิ้นแรกของโลก ซึ่งจัดทำร่วมกับธนาคารกลางของบาฮามาส เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี และรางวัลนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการผลิตเหรียญใหม่ยอดเยี่ยม (Best new coin product, process or manufacturing innovation) จากกระบวนการชุบเหรียญหมุนเวียนสีบรอนซ์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"โรงกษาปณ์แคนาดามุ่งมั่นพัฒนาศาสตร์และศิลป์ของการผลิตเหรียญ ไม่เพียงเพื่อประเทศแคนาดาและชาวแคนาดา แต่ยังเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมเงินตราทั่วโลก" Marie Lemay ประธานและซีอีโอของโรงกษาปณ์แคนาดา กล่าว "การได้รับการยอมรับใน 2 หมวดรางวัลจาก IACA นั้น ถือเป็นการรับรองอย่างยิ่งใหญ่จากผู้ร่วมอาชีพ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้เหรียญหมุนเวียนทั่วโลก และช่วยให้เราค้นพบวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ชั้นนำของเราอย่างยั่งยืนและใส่ใจมากยิ่งขึ้น"

เหรียญหมุนเวียน 25 เซนต์ ค.ศ. 2024 เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของธนาคารกลางบาฮามาส ซึ่งผลิตร่วมกับโรงกษาปณ์แคนาดา โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สีแบบแพดอันเป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะบนทั้งสองด้านของเหรียญอันล้ำหน้านี้ ด้านหน้าประกอบด้วยตราเครื่องหมายของบาฮามาส พร้อมข้อความ "Commonwealth of The Bahamas" (เครือรัฐบาฮามาส) ที่จัดเรียงเป็นรูปมงกุฎรอบตราเครื่องหมายดังกล่าว โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของตราเครื่องหมายนั้นระบายสีน้ำเงิน ขาว ชมพู และเขียว เพื่อสื่อถึงปลากระโทงสีน้ำเงิน นกฟลามิงโก และหอยสังข์ ด้านหลังเป็นภาพเรือสลุบพื้นเมือง ระบายด้วยสีแดง ขาว และน้ำตาล ลอยลำอยู่ในทะเลสีน้ำเงิน ใกล้เกาะ พร้อมคำจารึก "THE CENTRAL BANK OF THE BAHAMAS" (ธนาคารกลางบาฮามาส) และ "50th ANNIVERSARY 1974-2024" (ครบรอบ 50 ปี ค.ศ. 1974-2024) ซึ่งนอกเหนือจากการออกใช้ในระบบหมุนเวียนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 แล้ว เหรียญนี้ยังวางจำหน่ายให้กับนักสะสมในบรรจุภัณฑ์พิเศษอีกด้วย

โรงกษาปณ์ฯ ยังพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการชุบโลหะด้วยไฟฟ้าแบบใหม่ ที่กำลังเข้ามาปฏิวัติการผลิตผลิตภัณฑ์เหรียญชุบบรอนซ์ โดยเลิกใช้ไซยาไนด์ที่จำเป็นในกระบวนการชุบแบบดั้งเดิม รวมถึงสารเคมีรุนแรงที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานระดับเทศบาล พร้อมปรับปรุงสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน เคมีสูตรใหม่ของโรงกษาปณ์ฯ สามารถผลิตวัสดุชุบได้อย่างปลอดภัยและน่าเชื่อถือ สำหรับทั้งเหรียญสีบรอนซ์แบบสีเดียว และเหรียญที่มีสองหรือสามสี ซึ่งมักใช้กับเหรียญที่มีมูลค่าสูงกว่า

รางวัล Excellence in Currency ริเริ่มขึ้นโดย IACA เมื่อปี 2550 เพื่อส่งเสริมและยกย่องความเป็นเลิศในการออก ผลิต แปรรูป จัดการ และกระจายเงินตรา ทางโรงกษาปณ์ฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับผ่านรางวัลต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้แก่

  •  รางวัลเหรียญหมุนเวียนหรือชุดเหรียญใหม่ยอดเยี่ยม สำหรับเหรียญหมุนเวียน 2 ดอลลาร์แบบโลหะสองชนิด ที่มีขอบนอกชุบนิกเกิลสีดำครั้งแรกของโลก เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (พ.ศ. 2566)
  • รางวัลเหรียญที่ระลึกหรือเหรียญหมุนเวียนทดสอบใหม่ยอดเยี่ยม สำหรับเหรียญหมุนเวียน 1 ดอลลาร์ รุ่น Glow-in-the-Dark Flying Fish ของบาร์เบโดส (พ.ศ. 2565)
  • รางวัลพิเศษสาขาความคิดริเริ่มดีเด่นด้านเงินตราในช่วงการระบาดของโควิด-19 (สำหรับองค์กรอื่น) สำหรับเหรียญเกียรติยศเพื่อเชิดชูเกียรติบุคลากรแนวหน้าและผู้สร้างความแตกต่างให้แก่สังคมของแคนาดา (พ.ศ. 2564)
  • เทคโนโลยีเหรียญสามโลหะ ในหมวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ คุณลักษณะ หรือการกระจายเหรียญใหม่ยอดเยี่ยม (พ.ศ. 2562)
  • โครงการเหรียญหมุนเวียนที่ระลึก Canada 150 ในหมวดโปรแกรมการสื่อสารใหม่ยอดเยี่ยม (พ.ศ. 2560) และ
  • การคว้ารางวัลร่วมกับธนาคารกลางนิวซีแลนด์ สำหรับเหรียญหมุนเวียนสี 50 เซนต์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแอนแซกของนิวซีแลนด์ ในหมวดเหรียญที่ระลึกหรือเหรียญหมุนเวียนทดสอบใหม่ยอดเยี่ยม (พ.ศ. 2558)

ดูภาพเหรียญหมุนเวียนของธนาคารกลางบาฮามาสได้ที่นี่

เกี่ยวกับโรงกษาปณ์แคนาดา โรงกษาปณ์แคนาดา (Royal Canadian Mint) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์และการจำหน่ายเหรียญหมุนเวียนของแคนาดา โรงกษาปณ์แห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงกษาปณ์ที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุดในโลก โดยผลิตเหรียญสะสมที่ได้รับรางวัล ผลิตภัณฑ์ทองคำแท่งชั้นนำของตลาด ตลอดจนเหรียญตราอันทรงเกียรติทางทหารและพลเรือนของแคนาดา ในฐานะผู้สกัดที่มั่นคงตามมาตรฐานลอนดอนและมาตรฐาน Good Delivery ตลาด COMEX โรงกษาปณ์ยังนำเสนอบริการเต็มรูปแบบในการสกัดทองคำและเงินที่ดีที่สุด ในฐานะองค์กรซึ่งมุ่งมั่นที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพื่อสร้างสถานที่ทำงานอันปลอดภัยและเปิดกว้าง รวมถึงสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนต่าง ๆ ที่โรงกษาปณ์ดูแลอยู่ โรงกษาปณ์แคนาดาจึงได้บูรณาการแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในทุกแง่มุมของการดำเนินงาน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงกษาปณ์แคนาดา ผลิตภัณฑ์ และบริการต่าง ๆ กรุณาเยี่ยมชม www.mint.ca ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ของโรงกษาปณ์แคนาดาได้ทาง LinkedIn, Facebook และ Instagram

เกี่ยวกับ IACA

IACA ทำงานเคียงข้างภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนคำปรึกษาและความร่วมมือทั่วโลกในประเด็นสำคัญ ๆ แก่บรรดาผู้มีส่วนร่วมในแวดวงการชำระเงินด้วยเงินสด และตอบแทนอุตสาหกรรมด้วยผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มาจากการดำเนินโครงการ หลักสูตร และทรัพยากรสารสนเทศทั้งหลาย บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดในแวดวงการชำระเงินด้วยเงินสด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลาง หน่วยงานออกเงินตรา กระทรวงการคลัง โรงพิมพ์ภาครัฐและเอกชน โรงกษาปณ์ภาครัฐและเอกชน บริษัทบริหารจัดการเงินสด ซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเงินตรา และซัพพลายเออร์ดูแลเงินสด

สื่อมวลชนติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
Alex Reeves
Senior Manager, Public Affairs
(613) 884-6370
reeves@mint.ca


ที่มา : ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ - โรงกษาปณ์แคนาดาคว้า 2 รางวัล Excellence in Currency ประจำปี 2567 จากสมาคมเงินตราสากล https://www.prnasia.com/asia-story/archive/4544922_TH44922_10

ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้จัดทำโดย ซิชั่น พีอาร์ นิวส์ไวร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านข่าวของเรา ความคิดเห็นของผู้เขียนและเนื้อหาที่แบ่งปันในหน้านี้ถือเป็นความคิดเห็นของตนเอง และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงถึงมุมมองของ พีอาร์ นิวส์ ไทยแลนด์

แสดงความคิดเห็น